Translate

วันอาทิตย์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

พระคาถามหากรุณาธารณีสู (ตอนที่ ๒๖)


ปางที่ ๗๙
ซอพันลาเย


ปางที่ ๗๙

ภาคนิรมาณกาย.....ดอกบัวพันกลีบ  (เพื่อเป็นอุบายให้สัตว์โลกละประสาทรูปและรูปอันเป็นอารมณ์ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยแห่งความหลงผิด  ให้พิจารณาสภาพธรรมที่ปรากฏขณะนี้เดี๋ยวนี้)

คำแปล....."ซอพันลาเย"   แปลว่า  ผู้ปฏิบัติเพื่อขัดเกลาจิตใจให้คลายจากกิเลสจนหมดทุกข์ได้นั้น  จะต้องละความเห็นผิดก่อน ละประสาททางตา สติระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏทางตาขณะนี้ตามความเป็นจริง

อรรถว่า.....การปฏิบัติธรรม คือ  สติระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏทางตาขณะนี้ตามความเป็นจริง
ปัญญารู้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งที่ปรากฏขณะนี้ทางตาไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เรา เขา เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดเพราะมีเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว

........................................................................................................................................

ปางที่  ๘๐
ซอผ่อฮอ



ปางที่ ๘๐

ภาคนิรมาณกาย....พระโพธิสัตว์ได้วิพากษ์ถึงพิษภัยแห่งเสียงที่มากระทบหู   ทอดแขนลงเบื้องล่าง  (แสดงให้เหล่าสัตว์ละประสาทสัมผัสทางหู  และเสียงอันไม่พึงปรารถนา)  ให้รับฟังแต่เสียงทิพย์แห่งความสูญของสภาวะแห่งตน)

คำแปล....."ซอผ่อฮอ"    แปลว่า   เป็นพระคาถาต่อเนื่องจากประโยคก่อน  หมายถึงว่า แม้จะละประสาทสัมผัสทางตาแล้ว หูก็เป็นอุปสรรคอีกอย่างหนึ่ง  จำเป็นต้องละด้วยสติระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏทางหูขณะนี้ตามความเป็นจริง

อรรถว่า.....หากประสาทสัมผัสทางหูไม่บริสุทธิ์ ก็ยากที่จะได้รับกระแสแห่งธรรมและบรรลุถึงองค์มรรค
สติระลึกสภาพธรรมที่ปรากฏทางหูอยู่เนื่อง ๆ  จิตมีสมาธิตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวกับอารมณ์ต่าง ๆ ที่มากระทบ  การปฏิบัติเพื่อขัดเกลาจิตให้สะอาด คือ สติระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางหูขณะนี้  ปัญญารู้ตามความเป็นจริงของธาตุ ๔ ขันธ์ ๕  ที่กำลังปรากฏ ว่าเป็นเพียงสภาพธรรมเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา

.........................................................................................................................................


ปางที่  ๘๑
งั้น สิดตินตู



ปางที่ ๘๑

ภาคนิรมาณกาย.....พระโพธิสัตว์  ชูนิ้วมือขึ้นทั้งหมด  (เพื่อให้สรรพสัตว์เห็นความปลอมแปลงในการดมกลิ่นของประสาทสัมผัสทางจมูก)

คำแปล....."งัน "    แปลว่า  การนำให้เกิด  เป็นปฐมบทแห่งธารณี

                "สิดตินตู"   แปลว่า   ความสำเร็จของธาตุแห่งตน เป็นศูนย์รวมแห่งการปฏิบัติธรรม

อรรถว่า.....ธารณีประโยคนี้ เมื่อรวมกับ ๒ ประโยคก่อน  หมายถึง  การปฏิบัติธรรมนั้น  จะต้องมีจิตที่สงบจากอกุศล  จึงจะเป็นความสงบที่ตั้งหมั่น  มีลมหายใจสม่ำเสมอ  สติระลึกรู้ความหยาบและความละเอียดมากน้อยของลมหายใจ  จนกระทั่งเมื่อสติมีกำลังมากสามารถระลึกรู้ได้ว่า  ลมหายใจละเอียดมากเหมือนกับว่า ไม่มีลมหายใจอยู่

........................................................................................................................................